สมอง'' กับ ''การลงทุน''
ผลกำไร-ขาดทุน หรือเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มีผลต่อสมองส่วนอมิกดาลา แ ละทำให้เกิดอารมณ์ปะทุขึ้น ไม่ต่างจากลาวาภูเขาไฟ
เกิดอะไรขึ้นในสมองของคุณ ขณะที่คุณตัดสินใจลงทุนบ้าง? ต่อไปนี้คือคำตอบทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้คุณ "รู้ลึก" และ "รวย" ขึ้น
ในสภาพที่ตลาดทุน เต็มไปด้วยกระแสผันผวนต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างงุนงง ไปกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนอดที่จะตั้งคำถาม เพื่อการต่อสู้ดิ้นรน ให้หลุดจากภาวะที่ยื้อยุด อยู่เช่นนี้ไม่ได้ คำถามยอดฮิตที่มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ คงหนีไม่พ้น "เมื่อไหร่จะรวย เมื่อไหร่จะมีเงิน" หรือแม้กระทั่ง "เมื่อไหร่จะถึงเวลาโกยเงิน ในตลาดหุ้น ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ฯ"
ออกจะจริงอยู่ที่ว่า ไม่ว่าจะกี่ครั้ง ที่นักลงทุนเฝ้าโทษตัวเอง กับความผิดพลาด และเงินก้อนโตที่ต้องเสีย แบบทิ้งน้ำไปในตลาดดังกล่าว ก็ยังไม่ทำให้ความฉลาด ในการลงทุนเพิ่มขึ้นมา มากเท่าไหร่นัก แต่ตอนนี้มีวิธีการลงทุน ในแบบฉลาดที่นักลงทุน ควรเปิดหูเปิดตารับรู้ "วิทยาศาสตร์ทางสมอง" จะเข้ามาเป็นคำตอบให้คุณได้
ในการวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ในโรงพยาบาลจากทั่วโลก นักวิจัยได้พยายามค้นหาปฏิกิริยา"สมองสั่ง" เมื่อคนตัดสินใจในการลงทุน น่าตื่นเต้นไหมหากคุณจะได้รู้ว่า สมองมีส่วนช่วย ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น ทำอย่างไร จึงจะทำให้สมองทำงานดีขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการลงทุน) ทำไมคนถึงซื้อหุ้นแพง และขายถูกแสนถูก และทำไม "การคาดการณ์ราคาหุ้นขึ้น" ถึงได้ขึ้นได้จริงๆ และทำไมจึงเป็นเรื่องยาก ที่จะเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยง ในการลงทุนจนกว่าจะเสียเงินสักก้อนไป
ด้วยวิทยาการที่เรียกว่า MRI และเครื่องมือวิทยาศาสตร์อื่นๆ นักวิทยาศาสตร์สามารถสังเกต กระบวนการทำงานของสมอง ในการรับรู้เกี่ยวกับคุณค่าของรางวัล หรือสิ่งของที่ได้รับ แปลสัญญาณความน่าจะเป็น และประเมินความเสี่ยง กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ จอร์แดน กราฟแมน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางสมอง จากวิทยาลัยเทคโนโลยี แห่งแมสซาซูเซตส์ บอกว่า สั่งตรงไปถึงการทำงาน ของหัวใจของมนุษย์เลยทีเดียว
"สมอง" ศูนย์บัญชาการ
ประวัติศาสตร์เผ่าพันธุ์มนุษย์ ชี้ให้เห็นว่า เราเป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการล่า ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ ตามสัตว์ป่า หาถิ่นตั้งหลักปักฐาน เพื่อการกสิกรรมในเผ่า หาที่ปลอดภัยเพื่อกำบัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ อากัปกิริยาที่ "สมองสั่ง" ในประวัติศาสตร์ มนุษย์ยังมีเรื่องราวของความผิดพลาด ให้เห็นอยู่ด้วย
กล่าวกันว่า เมื่อใดที่ผู้นำพาไปในแหล่งอาหาร แต่ไม่พบอาหาร เขาจะถูกฆ่า ในขณะที่ผู้เดินถูกทาง นำพาคนในเผ่าไปสู่ดินแดน แห่งอาหาร จะได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ การทำงานของสมอง ในบางครั้งอาจจะดีกว่าในการคิด หรือคาดการณ์สิ่งต่างๆในระยะเวลาสั้นๆ ต่างกับการมองหา จุดหมายในระยะยาว หรือการคิดร้อยพันสิ่งในขณะเดียวกัน น่าแปลกใจที่บทสรุป ของการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีต ออกมาคล้ายคลึงกับ สิ่งที่นักลงทุนกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน
"สมอง"คลังกักเก็บอารมณ์
แล้วก็ถึงเวลาสำรวจสมอง การลงทุนของคุณเสียที สิ่งแรกที่เราควรจะรู้ คือ ส่วนของสมองที่เรียกว่า อมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งอยู่ทางด้านล่าง ของสมองส่วนหน้า เป็นส่วนที่มีหน้าที่ ในการส่งสัญญาณรับรู้สัมผัสต่างๆ ของสมองก่อนใครเพื่อน อมิกดาลามีรูปร่างเรียวยาว และจะเป็นแหล่งที่มา ของอารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ความกลัว ความโกรธชนิด หุนหันพลันแล่น หรือปฏิกิริยาทางร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ อย่างทันท่วงที ชนิดที่ไม่ต้องให้เวลาคิด
อย่างเช่น ถ้าจู่ๆ มีคนโยนงูใส่คุณ คงจะไม่มีเวลามานั่งคิดแน่ๆ ว่างูเป็นของจริง หรือของปลอม เป็นใคร คงต้องกระโจนหนีก่อน และนี่คือปฏิกิริยาตอบสนอง ที่อมิกดาลาสร้างขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในลักษณะที่เราไม่รู้ตัว เหมือนปฏิกิริยารีเฟลกซ์ เมื่อโดนเคาะที่หัวเข่า
แต่ไม่เพียงเฉพาะปฏิกิริยา การตอบสนองต่ออันตราย ที่จะมาเยือนเท่านั้น ที่อมิกดาลาจะทำงาน เมื่อใช้เครื่อง MRI ตรวจการทำงานของมัน อย่างละเอียดจะพบว่า ผลกำไรขาดทุนหรือรายได้ ที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ มีผลต่อสมอง ส่วนอมิกดาลานี้เหมือนกัน และทำให้เกิดอารมณ์ปะทุขึ้น ไม่ต่างจากถ่านหินร้อนของภูเขาไฟ
จากงานวิจัยของกราฟแมน นักวิเคราะห์ชาวอังกฤษ พบว่า ยิ่งคนเราเสียเงินไปมากเท่าไหร่ อมิกดาลาก็จะตื่นตัว และทำงานมากขึ้นเท่านั้น และการคิดเดาเอาล่วงหน้าว่า เงินในกระเป๋า คงจะมีอันต้องโบยบินไป จากปัจจัยและสาเหตุต่างๆ เช่น เล่นหุ้นผิดตัว หรือมองเทรนด์ไม่ขาด หรือ ขาดทุนจากการลงทุน กิจกรรมเหล่านี้ จะเป็นตัวจุดชนวนเร่งปฏิกิริยา ในการทำงานให้อมิกดาลาเช่นกัน
ถ้าการทำงานของอมิกดาลา จะทำให้คุณปลอดภัย เช่น ตกใจแล้วปีนต้นไม้หนีสิงโต แม้ว่าในที่สุดแล้ว สิ่งที่เห็นจะเป็นเพียงเงา ของกระต่ายตัวจ้อย แต่อย่างน้อยคุณก็ปลอดภัย แต่ในโลกของการเงิน หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อาการตื่นตระหนก หวาดผวาทางการเงิน อาจจะทำให้เกิดเป็น สัญญาณอันตรายที่ชี้ช่อง ให้เกิดผิดพลาดได้ในภายหลัง
การเทขายหุ้นทิ้ง การปิดออเดอร์ การเปลี่ยนเทรนด์ เพียงเพราะได้ยินข่าวไม่ค่อยดี อาจจะทำให้เกิดผลกระทบ ต่อตลาดทั้งหมด และจะส่งผลถึงตัวคุณ ที่จะต้องถอนตัวออกไป จากกระดานหุ้น หรือรีบปิดออเดอร์ และอาจจะไม่ได้มีโอกาส กลับมาสนุกอีกครั้ง เมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น
การตื่นตระหนกตกใจ อาจกระทบไปถึงกลยุทธ์ และแผนในการลงทุน ระยะยาวของคุณด้วย การกระตุ้นการทำงาน ของอมิกดาลา จะทำให้ร่างกาย หลั่งสารอะดรีนาลีน ที่จะกระทบต่อระบบความทรงจำ นั่นคือ จะเกิดเป็นอาการจำมิรู้ลืม
ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัย จากประเทศอังกฤษ พบว่า การสูญเสียทางการเงิน ไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน ฮิโปแคมปัส (Hippocampus) ที่อยู่ถัดจากอมิกดาลา ทำให้คนเราเกิดอาการ วิตกกังวลและหวาดกลัว ซึ่งมันอาจจะอธิบายได้ว่า ทำไมเราจึงเห็นตลาดเงิน ล้มพับไม่เป็นท่า เมื่อราคาหุ้นร่วงหล่นมา ต่ำสุดในประวัติการณ์ และไม่ค่อยจะเป็นที่ปรารถนา ของนักลงทุน หลังจากที่ตลาดล้มแล้ว กลับยากที่จะฟื้นตัวได้อีก ลงทุนแบบ "ไม่ได้ไม่เสีย"
อย่างไรก็ตาม อารมณ์ร้อน หรือความรู้สึกที่ฝังใจ ที่ปะทุขึ้นจากการทำงาน ของอมิกดาลาบางครั้ง ก็เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน
ครั้งหนึ่งมีผู้ทำการวิจัย โดยติดตั้งเครื่องวัด อัตราการเต้นของหัวใจ กับการทำงานตอบสนอง ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และผู้ทดลองได้เล่นเกม ที่คล้ายกับเกมเศรษฐีในบ้านเรา เขาพบว่าการเดินหมากแต่ละครั้ง มีผลทำให้เงินสะสมเพิ่มขึ้น หรือลดลงหากเขาพลาด และในที่สุด เขาจึงจับทางได้ว่า หากเดินไปทางซ้าย เขาเสี่ยงที่จะเสียเงิน มากกว่าเดินไปทางขวา ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่มากกว่า อาจทำให้เขาได้รับ ผลตอบแทนที่มากกว่า หากเขาเลือกเดินถูกทาง ซึ่งหากเดินไปทางขวา โอกาสที่ถูกจะมีมาก แต่เงินรางวัลจะน้อยลงไป ตามความเสี่ยงที่น้อยลง ซึ่งในที่สุดผู้ทดลอง ก็ตัดสินใจเลือกทางเดิน ที่เสี่ยงน้อยที่สุด
หลังจากการทดลองผ่านไป ผลการประมวลข้อมูล จากเครื่องมือที่ติดอยู่ตามร่างกาย ปรากฏว่า มีความเครียดเกิดขึ้น เมื่อผู้ทดลองเริ่มเล่นเกม สังเกตได้จากใบหน้าที่คร่ำเครียด อัตราการเต้นของหัวใจ อย่างรวดเร็ว และมือที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อ และเมื่อเขาเริ่มเลือกทิศทาง ในการเดิน และเขาพบว่าต้องเสียเงินกว่า 1,000 ดอลลาร์ไปในเกมแรก เพียงเศษเสี้ยววินาที อัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มขึ้นจาก 75 เป็น 140 ครั้ง และเขาพลาดในการเลือกเดิน ในเกมถัดมาถึง 3-4 ครั้ง ซึ่งเป็นทางเลือกที่เสี่ยงกว่าทั้งสิ้น
เขาบอกว่า อมิกดาลาเริ่มทำงาน โดยสั่งให้ประสาทรู้สึก และรับรู้ถึงความสูญเสียเหล่านั้น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพร่างกาย ในท้ายที่สุดเขาก็เรียนรู้ ที่จะเลือกเดินบนความเสี่ยง ที่น้อยกว่า และค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยเม็ดเงิน
แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ในทันทีที่สมองรับรู้ความผิดพลาด ในครั้งแรก หากแต่จะต้องเรียนรู้ ที่จะพลาดไปอีกอย่างน้อย 3-4 ครั้ง
การทดลองนี้จะชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ที่เกิดจากสมองของเรา จะทำให้ในท้ายที่สุด ความเป็นเหตุเป็นผลค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น
คนที่สมองส่วนอมิกดาลา ถูกทำลายไม่ว่าจากสาเหตุใด จะไม่สามารถเรียนรู้ ประสบการณ์จากความเสี่ยงได้ เพราะอมิกดาลาของเขาเหล่านั้น ไม่สามารถรับรู้ และส่งสัญญาณความเจ็บปวด จากการสูญเสียเงินมหาศาล ซึ่งคนเหล่านี้ จะกลายเป็นคนที่ตัดสินใจ จากอารมณ์มากกว่าเหตุผลในที่สุด
เรื่องราวทางชีววิทยา ที่ว่าซับซ้อนต่างๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันได้ กับอนาคตการลงทุนของคน ในช่วงที่ตลาดกำลังผันผวน นักลงทุนหลายคนแอบโม้ว่า เสี่ยงแค่ไหนพวกเขาก็ยอม
ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1990 เรียกได้ว่าช่วงนั้นนักลงทุน แทบจะไม่ได้บริหารสมอง ส่วนอมิกดาลาของตัวเอง เสียเอาเลย เพราะในขณะนั้น นักลงทุนมีแต่ได้กับได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ในครั้งนั้น ทำให้หลายคนคิดว่า แม้จะเสียบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ถึงขนาดต้อง ระมัดระวังตัวกันมากนัก
แต่อันที่จริงแล้ว การสูญเสียทางการเงิน นำมาซึ่งความเจ็บปวด ให้กับนักลงทุนไม่ใช่น้อย การเพิกเฉยละเลย ต่อสถานการณ์อันเลวร้าย และมองโลกในแง่ดีในครั้งนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่า มันจะกลายเป็นความเสี่ยง ในการใช้ชีวิตของนักลงทุน และในที่สุดเรื่องราว ของการขาดทุนไปทั่วทุกหัวระแหง จึงเกิดขึ้นกับตลาดเงินทั่วโลก
"ซีอีโอ"ของสมอง
ถ้าหากชีวิตนี้ จะต้องไปกระตุ้นอมิกดาลาตลอดเวลา เห็นทีนักลงทุนคงจะอยู่กันไม่เป็นสุขแน่ ยังโชคดีที่สมอง มีส่วนเก็บข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ และประมวลออกมา เป็นบทสรุป และบทเรียนชีวิตให้กับคน เพื่อให้เข้าใจ และสามารถคาดการณ์ได้ว่า ต่อไปควรจะทำตัวอย่างไร และเดินไปยังทิศทางไหน
กราฟแมน และทีมงาน เรียกเปลือกสมองส่วนหน้านี้ว่า "ซีอีโอ" แน่นอน เขาหมายความถึง ผู้ที่กุมอำนาจการตัดสินใจสำคัญๆ ของบริษัท ไม่ใช่เรื่องการฉ้อฉล
กล่าวกันว่า ซีอีโอของสมองจะทำหน้าที่ ในการประมวลการรับรู้ และสั่งการให้เกิดการตอบสนอง รวมทั้งเก็บเป็นประสบการณ์ และความทรงจำเพื่อรอวันเปิดลิ้นชัก นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในอนาคต เรียกได้ว่า "ซีอีโอ" จะทำหน้าที่ในการกำหนดวิสัยทัศน์ และสร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ในระยะยาว
จากการสำรวจทหารเวียดนาม ที่บาดเจ็บจากสงคราม และสมองในส่วนหน้า ได้รับการกระทบกระเทือน กราฟแมน พบว่า คนกลุ่มนี้ไม่สามารถวางแผน ทางการเงินล่วงหน้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนกลุ่มนี้ มักจะให้ความสำคัญกับการวางแผน ในระยะเวลาสั้นๆ มากกว่าคนปกติ เช่น การถามหาความมั่นคงในรายได้ หรือจ่ายเงินผ่อนค่าบ้าน โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี แต่คนกลุ่มนี้ให้ความสนใจ กับการศึกษาของลูกๆ หรือวางแผนการเงิน เมื่อเกษียณอายุน้อยมาก
ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ชี้ว่า การเสื่อมสภาพ ของสมองตามอายุที่เพิ่มขึ้น จะเริ่มมากจากสมองส่วนหน้านี้เอง นั่นเป็นเรื่องราว ที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนอายุมากขึ้น จะคาดการณ์การลงทุน ได้ไม่แม่นยำเท่ากับนักลงทุน อายุน้อย เพราะคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะขาดความเข้าใจ ในกระบวนการของผลลัพธ์ ในการลงทุนที่ซับซ้อน
"เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ๆ คิดได้ว่าบางเรื่อง ก็เกิดขึ้นเพื่อยั่วกิเลสของเราเท่านั้น หากเพิกเฉยปล่อยผ่านไปได้ ผลตอบแทนที่อาจจะมากกว่า ก็กำลังรอคุณอยู่"
ติดกับคำพยากรณ์
เรื่องคาดการณ์ก็ไม่ต่างจากเดา แต่อาจจะอาศัยหลักการอยู่บ้าง ทำให้ดูมีภาษีขึ้นมาอีกนิด แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าการลงทุน โดยฟังการคาดการณ์ ก็ไม่ได้แตกต่าง จากเล่นลอตเตอรี่เท่าไหร่นัก แล้วทำไม คนยังนั่งติดหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อฟังคำพยากรณ์การลงทุนอยู่ร่ำไป?
นักวิเคราะห์มักจะยืนยันนั่งยันว่า การดูประวัติราคาหุ้น ในอดีตสามารถคาดการณ์อนาคต ของหุ้นตัวนั้นได้ และนักบริหารกระดานหุ้น ในตลาด Wall Street ต่างลงความเห็นว่า เขาสามารถคาดการณ์ สถานการณ์หุ้นได้ ยิ่งเวลาเราเห็น เขาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ พูดนั่นพูดนี่ แต่ใครจะคาดคิด ถ้าหากเครื่องบินจะชนตึกขึ้นมานาทีนี้ ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร
แต่บางครั้งก็เหมือนกับว่า เราไม่มีทางเลือกมากนัก สมองของเราสั่งงานให้รู้จักคาดการณ์ และทำนายสถานการณ์ต่างล่วงหน้า และสิ่งเหล่านี้ ก็ถูกบรรจุไว้ในเรื่องราว ของชีววิทยาสมองของมนุษย์ มาแต่ครั้งโบราณ และอันที่จริงแล้ว มนุษย์เราถูกสร้างให้เป็น "ผู้ติดกับคำพยากรณ์"
ถอดความจาก Your Money&Your Brain.....Surprising New Research Can Help Make You Rich โดย Jason Zweig นิตยสาร Money
Mark S Zathen
No comments:
Post a Comment